จรรยาบรรณนักวิจัย

จรรยาบรรณนักวิจัย

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก ได้กำหนด “จรรยาบรรณนักวิจัย” เพื่อเป็นแนวทางให้นักวิจัยยึดถือประพฤติปฏิบัติ เพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณชื่อเสียง และฐานะของความเป็นนักวิจัยที่มีคุณภาพ รวมทั้งมีคุณธรรมและจริยธรรม ทำให้เป็นที่ยอมรับของประชาคมวิจัยทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ และเป็นใช้เป็นหลักเกณฑ์ควรประพฤติของนักวิจัยทั่วไป ไม่ว่าสาขาวิชาการใดๆ จึงมีลักษณะเป็นแนวทางกว้างๆ เพื่อครอบคลุมทุกสาขาวิชาการ และมีลักษณะเป็นข้อพึงสังวรณ์ มากกว่าจะเป็นกฎเกณฑ์ข้อบังคับ จรรยาบรรณนักวิจัยนี้ จะเป็นเครื่องมือนำไปสู่การเสริมสร้างจรรยาบรรณ ในหมู่นักวิจัยต่อไปได้ อาศัยตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก ว่าด้วย จรรยาบรรณของบุคลากร พ.ศ. 2552 ข้อ 8(6) “พึงเป็นนักวิจัยที่มีจรรยาบรรณตามข้อกำหนดของคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติิ” ซึ่งจรรยาบรรณนักวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติกำหนดจรรยาบรรณนักวิจัยไว้ 9 ประการ ดังนี้

  1. นักวิจัยต้องซื่อสัตย์และมีคุณธรรมในทางวิชาการและการจัดการ นักวิจัยต้องมีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ไม่นำผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตน ไม่ลอกเลียนงานของผู้อื่น ต้องให้เกียรติ และอ้างถึงบุคคลหรือแหล่งที่มาของข้อมูลที่นำมาใช้ในงานวิจัยต้องซื่อตรงต่อการแสวงหาทุนวิจัยและมีความเป็นธรรมเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่ได้จากการวิจัย
  2. นักวิจัยต้องตระหนักถึงพันธกรณีในการทำงานวิจัยตามข้อตกลงที่ทำไว้กับหน่วยงานที่สนับสนุนการวิจัยและต่อหน่วยงานที่ตนสังกัด นักวิจัยต้องปฏิบัติตามพันธกรณีและข้อตกลงที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันอุทิศเวลาทำงานวิจัยให้ได้ผลดีที่สุดและเป็นไปตามกำหนดเวลามีความรับผิดชอบไม่ละทิ้งงานระหว่างดำเนินการ
  3. นักวิจัยต้องมีพื้นฐานความรู้ในสาขาวิชาการที่ทำวิจัย นักวิจัยต้องมีพื้นฐานความรู้ในสาขาวิชาการที่ทำวิจัยอย่างเพียงพอ และมีความรู้ความชำนาญหรือมีประสบการณ์เกี่ยวเนื่องกับเรื่องที่ทำวิจัย เพื่อนำไปสู่งานวิจัยที่มีคุณภาพและเพื่อป้องกันปัญหาการวิเคราะห์ การตีความหรือการสรุปที่ผิดพลาด อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่องานวิจัย
  4. นักวิจัยต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ศึกษาวิจัย ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิต นักวิจัยต้องดาเนินการด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง และเที่ยงตรงในการทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับคน สัตว์ พืช ศิลปวัฒนธรรม ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม มีจิตสำนึกและมีปณิธานที่จะอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม
  5. นักวิจัยต้องเคารพศักดิ์ศรี และสิทธิของมนุษย์ที่ใช้เป็นตัวอย่างในการวิจัย นักวิจัยต้องไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ทางวิชาการจนละเลยขาดความเคารพในศักดิ์ศรีของเพื่อนมนุษย์ต้องถือเป็นภาระหน้าที่ที่จะอธิบายจุดมุ่งหมายของการวิจัย แก่บุคคลที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง โดยไม่หลอกลวงหรือบีบบังคับ และไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
  6. นักวิจัยต้องมีอิสระทางความคิด โดยปราศจากอคติในทุกขั้นตอนของการทำวิจัย นักวิจัยต้องมีอิสระทางความคิด ต้องตระหนักว่า อคติส่วนตน หรือความลำเอียงทางวิชาการ อาจส่งผลให้มีการบิดเบือนข้อมูลและข้อค้นพบทางวิชาการ อันเป็นเหตุให้เกิดผลเสียหายต่องานวิจัย
  7. นักวิจัยพึงนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในทางที่ชอบ นักวิจัยพึงเผยแพร่ผลงานวิจัยเพื่อประโยชน์ทางวิชาการและสังคมไม่ขยายผลข้อค้นพบจนเกินความเป็นจริง และไม่ใช้ผลงานวิจัยไปในทางมิชอบ
  8. นักวิจัยพึงเคารพความคิดเห็นทางวิชาการของผู้อื่น นักวิจัยพึงมีใจกว้างพร้อมที่จะเปิดเผยข้อมูลและขั้นตอนการวิจัยยอมรับฟังความคิดเห็นและเหตุผลทางวิชาการของผู้อื่นและพร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไขงานวิจัยของตนให้ถูกต้อง
  9. นักวิจัยพึงมีความรับผิดชอบต่อสังคมทุกระดับ นักวิจัยควรมีจิตสำนึกที่จะอุทิศกำลังสติปัญญาในการทำวิจัย เพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการ เพื่อความเจริญและประโยชน์สุขของสังคมและมวลมนุษยชาติ

การประพฤติผิดจรรยาวิชาชีพวิจัย

การกระทำต่อไปนี้ ถือว่าเป็นการประพฤติผิดจรรยาวิชาชีพวิจัยและนักวิจัยไม่สมควรกระทำอย่างยิ่ง (จรรยาวิชาชีพวิจัยและแนวทางปฏิบัติ, สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ)

  1. การคัดลอกงานหรือผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตน งานและผลงานดังกล่าว เช่น แนวคิดภาษา ถ้อยคำ ข้อความ คติพจน์ สุภาษิต ภาพเขียน ภาพถ่าย รูปปั้น รูปจำลอง ทำนองเพลง และผลงานใดๆ ของผู้อื่น เป็นต้น ไม่ว่าจะนำมาเพียงทั้งหมดหรือบางส่วน หรือนำเอามาทำใหม่ด้วยตนเอง หรือว่าจ้างให้ผู้อื่นทำให้โดยมีการแก้ไข ดัดแปลง หรือปรับปรุงใหม่ แล้วเสนองานหรือผลงานนั้นประหนึ่งว่าเป็นของตน โดยปกปิดข้อความจริงที่ควรบอกให้ชัดแจ้ง ทำให้บุคคลอื่นเข้าใจผิดว่าเป็นของตน การกระทำเช่นนี้เป็นความไม่ซื่อสัตย์หรือเป็นการหลอกลวงทางวิชาการ และการขาดจิตสำนึกในความมีจรรยาหรือความประพฤติที่ดี
  2. การคัดลอกผลงานของตนเอง โดยนักวิจัยคัดลอก หรือนำผลงานของตนเองที่เหมือนเดิมหรือเกือบเหมือนเดิมหรือนำมาเพียงบางส่วนกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง โดยไม่มีการอ้างถึงผลงานเดิมของตน รวมทั้งนำผลงานมารายงานเพิ่มเติม หรือปรับแต่งให้ต่างไปจากเดิม เพื่อทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดพลาด คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง หรือเข้าใจว่าเป็นผลงานค้นพบใหม่ จนเกิดความผิดพลาดในการอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล
  3. การปกปิด บิดเบือน แก้ไขข้อมูล ข้อความ หรือกระทำการใดๆ ในกระบวนการวิจัยและการรายงานผลการวิจัยที่ทำให้ผิดไปจากความเป็นจริง โดยการตัดทอนหรือเพิ่มเติม หรือดัดแปลง ปรุงแต่ง แก้ไขข้อมูล ข้อความ หรือการปฏิบัติอื่นใดในกระบวนการวิจัยและรายงานข้อค้นพบจากการวิจัย เพื่อให้เป็นไปตามข้อสรุปที่ตนต้องการ การกระทำเช่นนี้เป็นการนำเสนอเรื่องหรือสิ่งอันเป็นเท็จ เป็นการกระทำผิดด้านวิชาการ วิชาชีพ และอาจถึงขั้นผิดกฎหมาย รวมถึงการขาดจิตสำนึกในความมีจรรยา หรือความประพฤติที่ดี
  4. การสร้างข้อมูลเท็จ หรือจงใจปั้นแต่งข้อมูลให้ผิดไปจากความเป็นจริงที่พบจากการวิจัย หรือหลีกเลี่ยงที่จะนำเสนอเรื่องหรือสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง ถือเป็นการหลอกลวง และกระทำผิดทั้งด้านวิชาการ วิชาชีพ และความมีจรรยาหรือความประพฤติที่ดี
  5. การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวหรือความลับของผู้รับการวิจัย ที่นักวิจัยได้กระทำไปโดยไม่ได้รับคำยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้รับการวิจัย ทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้รับการวิจัยเป็นส่วนตัว ไม่ว่าในทางใดก็ตาม รวมทั้งความมีชื่อเสียง นอกจากนี้ การที่นักวิจัยไม่ระมัดระวังในการนำเสนอข้อมูลหรือรายงานผลงานวิจัย ทำให้สามารถคาดเดาตัวบุคคลที่กล่าวถึงได้ก็ถือเป็นการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบและขาดจิตสำนึกในความมีจรรยาหรือความประพฤติที่ดี

หลักเกณฑ์และวิธีการลงโทษทางจรรยาบรรณ

หลักเกณฑ์และวิธีการลงโทษทางจรรยาบรรณ ให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก ว่าด้วย จรรยาบรรณของบุคลากร พ.ศ. 2552 ข้อ 28, 29, 30, 31, 32 และ ข้อ 33 โดยอนุโลม


Attachments

File Description File size Downloads
pdf จรรยาวิชาชีพวิจัยและแนวทางปฏิบัติ จรรยาวิชาชีพวิจัยและแนวทางปฏิบัติ จาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
647 KB 1081
pdf จรรยาบรรณของนักวิจัย จรรยาบรรณของนักวิจัย
341 KB 1486
pdf ข้อบังคับมหาวิทยาลัย จรรยาบรรณบุคลากร พ.ศ.2552 ข้อบังคับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก ว่าด้วย จรรยาบรรณของบุคลากร พ.ศ. 2552
3 MB 582